รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ ภารกิจพลิก มทร.ตะวันออก สู่แหล่งผลิตกำลังคนตอบโจทย์ 10 s curve EEC ครบวงจร

รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ ภารกิจพลิก มทร.ตะวันออก สู่แหล่งผลิตกำลังคนตอบโจทย์ 10 s curve EEC ครบวงจร



ทุกวันนี้ เราได้เห็นผู้บริหารระดับสูง หรือ ซีอีโอ ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าจุดเด่นของผู้บริหารระดับสูงอายุน้อยเหล่านี้ คือ ความตั้งใจอันแรงกล้า การตัดสินใจที่เด็ดขาด ทว่า พร้อมเปิดรับความคิดเห็นจากคนทำงานทุกเพศ ทุกวัย เพื่อทำงานกันเป็นทีม ร่วมเดินไปสู่เป้าหมายความสำเร็จเดียวกันขององค์กร ที่เกริ่นมาเช่นนี้ เพราะเรากำลังจะบอกเล่าเรื่องราวของ ‘รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ’ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) ที่เมื่อได้พูดคุยแล้ว รู้สึกได้ถึงคุณสมบัติที่กล่าวมานี้แทบทุกประการ

โดยภารกิจที่รอว่าที่อธิการบดีวัย 42 ปี ท่านนี้อยู่ นั่นคือ การพัฒนาและขับเคลื่อน มทร.ตะวันออก สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ให้เป็นแหล่งผลิตบุคลากรคุณภาพตอบโจทย์ 10 + 2 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตอีอีซี ซึ่ง รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ กล่าวชัดเจนว่า“ผมแน่ใจว่าหลักสูตรที่ มทร.ตะวันออก เปิดสอนในตอนนี้ ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทางอีอีซีต้องการ ดังนั้น เราสามารถเป็นกำลังสำคัญในภารกิจการผลิตบุคลากรของอีอีซีแน่นอน”

นอกเหนือจากความตั้งใจในการพัฒนา มทร.ตะวันออก ในฐานะอธิการบดี ที่กล่าวมาแล้ว แนวคิดในการใช้ชีวิตและประสบการณ์การทำงานของผู้นำท่านนี้ไม่ได้น้อยตามอายุแต่อย่างใด นี่เป็นสาเหตุที่เราอยากให้มาทำความรู้จัก ว่าที่อธิการบดีท่านนี้ไปด้วยกัน


จากเด็กเทคนิคราชมงคลภาคใต้ เก็บประสบการณ์บนเส้นทางสายวิชาการ พร้อมหวนสู่การพัฒนา “ราชมงคล”

พื้นเพของ รศ.ดร.ฤกษ์ชัย เป็นชาวจังหวัดระนอง ที่เลือกเดินบนเส้นทาง “เด็กเทคนิค” เมื่อเรียนจบ ปวช. จาก วิทยาลัยเทคนิคจังหวัดระนอง แล้ว ก็มาเรียนต่อ ปวส. ที่ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ภาคใต้ ในสมัยนั้น

จากเส้นทางสายวิชาชีพ ได้เปลี่ยนสู่การศึกษาต่อใน สถาบันอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรี เรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เป็นคนแรกของมหาวิทยาลัยและได้ทุนเรียนต่อปริญญาโท หลักสูตร 2 ปี ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กระทั่งจบปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยระหว่างเรียนต่อปริญญาเอกนี้เอง ที่ รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานในฐานะอาจารย์ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543

“มาในปี 2547 ผมได้เป็นผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการงานคอมพิวเตอร์ งานระบบไอทีในมหาวิทยาลัย เขียนหนังสือแต่งตำรา พร้อมไปกับทำงานบริหารและเรียนปริญญาเอกไปด้วย กระทั่งต่อมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มีดำริจะก่อตั้งคณะไอทีหรือคณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ปี 2550 ผมจึงถูกทาบทามให้เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และเป็นรองคณบดีทางด้านฝ่ายวิจัยตามลำดับ ประมาณปี 2555”

“ปี 2557 ผมรู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และคิดว่าอยากลองหาประสบการณ์ทำธุรกิจ จึงออกมาตั้งบริษัทกับเพื่อน ให้บริการด้านซอฟท์แวร์และไอที ก็ได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจ แต่ทำได้ระยะหนึ่ง แม้งานจะเยอะแต่ธุรกิจกลับไปไม่รอดเพราะปัญหา Cash Flow โดยก่อนที่จะเลิกกิจการผมมีความคิดในหัวว่าอยากกลับไปทำงานที่ราชมงคล เพราะผมก็เป็นศิษย์เก่าของราชมงคล อยากกลับไปพัฒนาสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้เรา”

ก็พอดีกับทางราชมงคลตะวันออกเปิดรับสมัครอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ รศ.ดร.ฤกษ์ชัย จึงกลับสู่เส้นทางวิชาการอีกครั้ง โดยเริ่มมาจากการเป็นอาจารย์ประมาณ 1 ปี แล้วจึงลงสมัครเป็นคณบดีและได้รับตำแหน่งเป็นคณบดีคณะบริหารธุรกิจฯ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ


ทุนมนุษย์

เริ่มประสบการณ์ในฐานะผู้บริหาร ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนเป็นอันดับหนึ่ง

แนวคิดการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคล เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญที่ รศ.ดร.ฤกษ์ชัย แถลงตั้งแต่ตอนสรรหาคณบดีคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ เมื่อ 4-5 ปีก่อน

“ในตอนนั้น ผมตั้งใจจะเปิดคณะ Digital Economy ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านเศรษฐศาสตร์และดิจิทัลเข้าด้วยกัน รวมถึงคณะ Financial Engineering ที่ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปี ที่แล้ว ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ในที่สุดก็ยังไม่สามารถเปิดได้เลยในเร็ววัน เพราะยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรผู้สอน ต่อมาผมก็มีความคิดที่อยากจะเปิดอีกคณะหนึ่ง คือ คณะ Startup SME มุ่งเน้นการเรียนการสอน สร้างเสริมทักษะให้ผู้ประกอบการใหม่ในรูปแบบของ SME scale up ด้วย”

“ย้อนกลับไปในเวลานั้น ผมตระหนักอย่างมากว่าในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงของโลก เราอาจคิดในเชิงบูรณาการได้ว่าศาสตร์ไหนมาผสมกับศาสตร์ไหน แล้วเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม นำมาสู่การเปิดหลักสูตรต่างๆ ออกมารองรับ แต่อย่าลืมว่าการจะเปิดหลักสูตรใด จำเป็นต้องมีความพร้อมด้านบุคลากรผู้สอน ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนากำลังคนหรือการสร้างทรัพยากรบุคคลเท่าไรนัก”

“ที่ผ่านมา เวลาเราจะทำโปรเจคอะไร เราจึงมีแต่การแสดงวิสัยทัศน์ เตรียมสภาพแวดล้อมทางวัตถุให้พร้อม แล้วเดินหน้าทำโครงการนั้น โดยหลงลืมเรื่องการพัฒนากำลังคน ซึ่งตรงกับคำว่า Human Capital หรือ ทุนมนุษย์ ทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะทุนมนุษย์นับเป็น asset หรือทรัพย์สินในรูปแบบทรัพยากรบุคคลที่สามารถพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มได้”

“ทุกวันนี้มุมมองด้านการบริหารงานบุคคลยิ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่ในทุกภารกิจต้องให้ความสำคัญ ผมขอสมมติอย่างนี้ว่าถ้าให้เลือกระหว่างมีเงิน 100 ล้านบาท กับมีคนเก่งทำงานด้วย 20 คน ขอเลือกคนเก่ง 20 คน เพราะถึงมีเงิน 100 ล้านบาท สร้างสิ่งต่างๆขึ้นได้มากมาย แต่ถ้าไม่มีคนช่วยพัฒนาสานต่อ ก็มีแต่จะผุพังไป ดังนั้น ถ้าเรามีคนเก่งซึ่งมีทัศนคติที่ดี มีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการทำงานที่ดี นี่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าและมีคุณค่ามากกว่า”


รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ กับภารกิจว่าที่อธิการบดี มทร.ตะวันออก พร้อมเสริมแกร่งด้านผลิตกำลังคนให้อีอีซี

มาในวันนี้ รศ.ดร.ฤกษ์ชัย อยู่ในฐานะว่าที่อธิการบดี มทร.ตะวันออก ที่สวมหมวกอีกใบเพื่อร่วมพิชิตภารกิจกับ คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC พัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10+2 ด้าน ดังนั้น รศ.ดร.ฤกษ์ชัย จึงได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับความพร้อมในการเป็นแหล่งผลิตบุคลากรป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมในอีอีซี ของ มทร.ตะวันออก โดยเริ่มต้นจากมุมมองการจัดการเรียนการสอนของราชมงคลโดยรวมว่า

“เมื่อก่อนเด็กที่จบปวช. ปวส.ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันที่จะเรียนปริญญาตรีที่ราชมงคลทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นเราไปลงแข่งในสนามที่เราไม่ได้แข็งแกร่ง อย่างเด็กจบ ม.6 มา เขาก็ไม่ได้มุ่งมาที่ราชมงคล แล้วที่ผ่านมา มทร. ก็มีแผนพัฒนาบุคลากรเหมือนกัน แต่ก็ยังมีบุคลากรที่จบระดับ ดร. หรืออาจารย์ รวมถึงมีตำแหน่งทางวิชาการค่อนข้างน้อย พอคิดจะเปิดระดับปริญญาโทซึ่งพยายามมา 3-4 ปี ก็ยังทำไม่ได้”

“ตั้งแต่ตอนที่ผมเป็นคณบดี ผมจึงพยายามพัฒนาบุคลากรโดยส่งอาจารย์หลายคนไปเรียนต่อ ให้ทุนเรียนบ้าง ให้เรียนภาคสมทบบ้าง และพยายามผลักดันให้อาจารย์หลายคนทำตำแหน่งวิชาการ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นที่น่ายินดีว่าเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้เก็บดอกผลจากการกระทำนี้แล้ว”

academic.rmutto.ac.th

“มาถึงในส่วนของ มทร.ตะวันออก ถือเป็น สถาบันการศึกษาซึ่งอยู่ในจุดที่ดีที่สุด ทั้งในเรื่องของชัยภูมิที่ตั้งที่อยู่ในแถบบางพระ-ศรีราชา จังหวัดชลบุรี จุดศูนย์กลางของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีชื่อที่เหมาะสม “ภาคตะวันออก” ซึ่งเป็นทิศมงคล ยิ่งในภาษาจีน คำนี้ตรงกับคำว่า “ตงฟาง” ที่แปลว่า “บูรพา” สื่อถึง พระอาทิตย์ขึ้น หรือ “Sunrise” ด้วย”

“ดังนั้น ในมุมมองของผม มทร.ตะวันออก จึงมีศักยภาพมาก มีความพร้อมที่จะโต แต่สิ่งที่ขาด คือ ขาดคนนำหรือคนหยิบโอกาสให้ เปรียบไปก็เหมือนประเทศไทยคือพร้อมทุกอย่าง ดีทุกอย่าง แต่ขาดผู้นำ ขาดวิสัยทัศน์และแนวทางที่ชัดเจน”

“สำหรับนิยามของบัณฑิตราชมงคลที่คนส่วนใหญ่รับรู้ว่า เป็น บัณฑิตนักปฏิบัติ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่ในยุคนี้ต้องปฏิบัติอย่างฉลาดด้วย ทุกวันนี้เด็กไทยอยู่ในเจนดิจิทัล มุมมองเขาก็จะแตกต่างไปจากเด็กสมัยก่อน อะไรที่ว่ายาก เด็กยุคนี้ทำเป็นทำได้ แต่ที่สำคัญ เขาต้องรู้หลักการได้ลงมือทำ ต้องรู้ว่าทำแล้วได้ผลตอบแทนอะไรกลับมา คุ้มค่ากับการลงมือทำหรือไม่ ดังนั้น บัณฑิตราชมงคล จึงต้องเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติที่ชาญฉลาดมีความคิดสร้างสรรค์และทำงานได้ จึงจะเป็นบัณฑิตศตวรรษที่ 21 ที่แท้จริง”

เกษตรสมัยใหม่ อีอีซี

“ส่วนที่ เกษตรบางพระ หรือ มทร.ตะวันออก วิทยาเขตบางพระ ที่สำนักงานอธิการบดีตั้งอยู่นี้ เราต้องยอมรับว่าแทบทุกการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมล้วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตที่มาจากภาคการเกษตรทั้งนั้น ดังนั้น การศึกษาด้านเกษตรกรรมไทย จึงต้องเรียนรู้ในแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว เกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ ถือเป็นทฤษฎีการเกษตรที่ทันสมัยมาก หลักสูตรด้านเกษตรกรรมของ เกษตรบางพระ ก็ปรับโดยสอดแทรกบทเรียนนี้ร่วมกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เข้าไปด้วย”

“นอกจากนี้ที่นี่ยังมีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง ที่ผ่านมาเราส่งบุคลากรไปเรียนต่อมากมาย สาขาที่โดดเด่นก็เช่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ที่ตอบโจทย์การผลิตกำลังคนหนึ่งใน10 s curve ได้ชัดเจน นั่นคือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และที่นี่ยังมี รพ.สัตว์ ซึ่งน่าจะเป็นแห่งเดียวในภาคตะวันออกด้วยซ้ำ”

“ดังนั้น ในเรื่องของความครอบคลุมในหลักสูตรที่เปิดสอน เราได้รับมอบหมายจาก EEC HDC ให้เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตบุคลากรตอบสนองอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยมีการเปิดสอนในสาขาการจัดการโลจิสติกส์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่วิทยาเขตบางพระ สาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะเทคโนโลยีสังคม ที่วิทยาเขตจันทบุรี สาขาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ดังนั้น แค่ด้านการจัดการโลจิสติกส์ เราก็มีการเปิดสอนที่หลากหลายมาก”

“มาถึงในส่วนของวิทยาเขตในสังกัด อย่าง วิทยาเขตอุเทนถวาย ก็มีชื่อเสียงในฐานะ สถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรคุณภาพด้านวิศวกรก่อสร้างระดับประเทศที่มีชื่อเสียงมานาน ในแวดวงการก่อสร้างไทยมีศิษย์เก่าอุเทนถวายอยู่ไม่น้อย ส่วน วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ ก็เป็นที่รู้จักในฐานะสถาบันการศึกษาที่ผลิตนักบัญชี บุคลากรด้านบริหารธุรกิจทุกแขนง ด้วยการเปิดสอนในสาขาการตลาด การบัญชี เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการ และสาขาที่อินเทรนด์ ตอบโจทย์การเติบโตของธุรกิจดิจิทัลยุคนี้ อย่าง สาขาเทคโนโลยีสื่อดิจิทัล – การจัดการธุรกิจดิจิทัล ด้วย”

“สำหรับ วิทยาเขตจันทบุรี ที่แม้จะตั้งอยู่ไกล แต่ก็มีชื่อเสียงมานานในชื่อของ เกษตรกระทิง แม้จะอยู่ไกล แต่ที่นี่โดดเด่นมากด้านการเกษตรพืชสวน หากใครอยากจบไปและทำงานเกี่ยวข้องกับการเกษตรก็ต้องมาเรียนที่นี่ ในคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร”


การศึกษาอาชีวะ

เปิด Key success ชี้ทางสู่ความสำเร็จร่วมกันในการพัฒนากำลังคนในอีอีซี

เมื่อถามถึง ปัจจัยที่จะนำสู่ความสำเร็จในภารกิจพัฒนากำลังคนตอบสนองความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10+2 อุตสาหกรรม รศ.ดร.ฤกษ์ชัย มองว่าองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนภารกิจนี้ไปสู่ความสำเร็จได้ทั้งสิ้น

  • ร่วมมือกัน ขับเคลื่อน ภาคการศึกษาอีอีซี เป็นเครือข่าย ความสำเร็จอยู่ไม่ไกล

“เครือข่ายที่ช่วยเราทำงานมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสพฐ.ทั้งหมด อาชีวะทั้งหมด มหาวิทยาลัย รวมถึงมหาวิทยาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์ของเรา ถ้ามองว่านี่คือเครือข่ายเดียวกันแบบไม่แยก เราก็จะพบว่าแต่ละฝ่ายมีความถนัดด้านไหน โดยมีอีอีซีเป็นตัวประสาน และมีอนาคตของประเทศเป็นเป้าหมาย”

  • ภารกิจสำเร็จได้ ด้วยทฤษฎี เลโก้

“ถ้าถามว่า มทร.ตะวันออก มีอะไรดี ผมก็ตอบได้เลยว่ามีเรามี Material ให้เล่นครบ เหมือนการมีเลโก้ให้ต่อเล่น ถ้าทาง EEC HDC อยากให้เราช่วยทำเรื่องนี้ เราก็เอาเลโก้คณะวิทย์ฯ ในสาขานี้ ที่อาจต้องมาต่อรวมกับเลโก้ คณะบริหารธุรกิจฯ สาขานั้น ก็ได้เป็นโปรดักส์ใหม่ เป็นหลักสูตรใหม่ขึ้นมาได้ สำหรับผลแล้ว การจะผ่านภารกิจนี้ไปด้วยกันทุกคณะทุกสาขาต้องทำงานร่วมกัน จะแยกเดี่ยวไม่ได้ เพราะชิ้นงานเลโก้จะเสร็จสมบูรณ์ ต้องอาศัยตัวต่อหลายสีมาต่อเข้าด้วยกัน”

“ดังนั้นสิ่งที่ผมวางแผนว่าเป็นภารกิจหลักในตอนนี้ คือ การปรับองคาพยพขององค์กร ละลายการแบ่งแยกความเป็นแต่ละหน่วยของตัวเอง เน้นการประสานความร่วมมือ ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงตัวตนของหน่วยงานนั้น”

  • Borderless University มหาวิทยาลัยแห่งการเชื่อมต่อ พร้อมเดินไปสู่ความสำเร็จ

“ในอนาคตที่ มทร.ตะวันออก จะเป็นที่ตั้งของ Wellness Center ดูแลผู้สูงอายุ เป็นแหล่งพัฒนาบุคลาการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยวางแผนไว้ว่าจะใช้พื้นที่บริเวณ วิทยาเขตจันทบุรี ที่เป็นสวนผลไม้ อากาศดี แต่ด้วยความที่ทางมหาวิทยาลัยไม่มีคณะพยาบาลศาสตร์ ผมคิดว่าอาจจะขอความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยบูรพา ในการก่อร่างสร้างโปรเจคนี้ขึ้นมา”

“ผมเชื่อมั่นว่า สิ่งที่พูดมานี้ เป็นไปได้ เพราะ มทร.ตะวันออก มีทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ แค่โยนโจทย์ที่ชัดเจนให้ไป สุดท้ายทุกองค์ประกอบมารวมกัน ผลสัมฤทธิก็ย่อมเกิดขึ้นได้”


กับ 2 คำถามสุดท้าย

หนึ่ง “เชื่อไหมว่าอีอีซีจะนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า?” รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ตอบทันทีว่า

“เชื่ออย่างแรงกล้าครับ ในมุมมองของผมนี่คือการทุบกระปุกครั้งสุดท้ายที่เราต้องทำในเวลานี้ แล้วผมถามกลับว่า ถ้าตัวเราเองยังไม่เชื่อแล้วเราจะไปพูดให้ใครเชื่อได้ เมื่อเชื่อแล้วก็ต้องมองภาพให้ออก ถ้าเรามองภาพสุดท้ายออก ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก”

สอง “แล้วเราจะทำยังไงให้คนทำงานในทีมมองเห็นเหมือนเรา?”

“ตรงนี้ไม่ใช่การโน้มน้าวให้เขามามองในมุมเรา แต่เราต้องไปมองในมุมเขาก่อน พอเราเข้าใจเขา ผมเชื่อว่าเราก็สามารถหาวิธีพูดให้เขาเห็นภาพสุดท้ายที่เราอยากจะสื่อได้และให้ความร่วมมือได้แน่นอน”







ระบบที่เกี่ยวข้อง

ที่อยู่ติดต่อ

Support

image3.jpg

Copyright © 2017-2022 Rajamangala University of Technology Tawan-ok. All rights reserved